พระมงคลมหาลาภ องค์นี้ด้านหลังติดรูปคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ได้มาสภาพแบบนี้เลยครับ
พระดีในยุคปัจจุบัน แม้แต่คุณปู่ประถมก็ยังอาราธนาติดกายท่านครับพระมงคลมหาลาภ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานสมโภชพระพุทธชินราชจอมมุนีซึ่งสร้างที่ วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร แล้วอัญเชิญส่วนหนึ่งไปประดิษฐานเป็นพระประทาน ณ วัดสารนาถธรรมราม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้ายขวา เมื่อวันที่ ๕-๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๙ นั้น ซึ่งในพิธีการครั้งนี้ได้มีการประกอบพิธีบรรจุพุทธมนต์เป็นพิเศษที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งยังไม่เคยเห็นทำที่ไหน คือจัดที่บูชาพร้อมเครื่องสังเวยต่างๆมีเทียนธูป ข้าวตอก ดอกไม้ ๗ สี และอาหารผลไม้ถึงอย่างละ ๓๗๕ ที่ มีเบญจา มีเศวตฉัตร ๙ ชั้น สูง ๖ ศอก ๘ ต้น บายศรีเงิน บายศรีทอง ๙ ชั้น สูง ๖ ศอกอย่างละ ๘ ต้น การบรรจุพระพุทธมนต์ลงไปในน้ำมนต์ และผงที่จะนำมาสร้างพระเครื่องนั้น ได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงมาทำพิธีประจุมนต์ ปลุกเสกได้แก่
-พระพรหมมุนี ( ผิน สุวโจ ) วัดบวรนิเวศวิหาร
-พระวรเวทย์คุณาจารย์ (เมี้ยน ปภสสโร ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
-พระมหารัชชมังคลาจารย์
-พระครูวินัยธรเฟื่อง (ญาณปปทีโป )
-พระสะอาด อภิวฒฒโน วัดสัมพันธวงศ์
-พระครูนอ วัดกลางท่าเรือ อยุธยา
-พระอาจารย์บุ่ง วัดใหม่ทองเสน
-พระชอบ สัมมาจารี วัดอาวุธวิกสิตาราม ธนบุรี เป็นต้น
ในพิธีนี้ได้เชิญเทพและพรหมผู้มีชื่อเสียงเก่าๆ มาเข้าทรงประกอบพิธีอธิษฐานบรรจุมนต์ลงด้วย รวมถึงการบรรจุมนต์โยคีฮาเร็บ (อาจารย์ชื่น จันทรเพ็ชร) ผู้มีชี่อเสียงและ พ.ต.อ.ชะลอ อุทกภาชน์ ผู้เป็นศิษย์เป็นผู้ทำพิธีปลุกเสกพระเครื่องนั้นอีกครั้งหนึ่ง พระเครื่องที่จะทำพิธีปลุกเสกนั้น ห่อด้วยผ้าขาว ๗ ชั้น ผ้าเขียว ๗ ชั้น พิธีนอกนั้นเหมือนเมื่อบรรจุมนต์ ลงในผงและน้ำที่จะสร้างพระ ตั้งน้ำมนต์สำหรับแจกผู้ต้องการซึ่งมาร่วมพิธี ๔๐ ตุ่ม แต่ไม่ได้กล่าวถึงผงที่นำมาประสมสร้างพระนั้นว่ามีอะไรบ้าง ทำให้มีผู้สนใจต้องการทราบอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ค้นคว้าจากเอกสารต่างๆในสมัยนั้นมาให้ท่านผู้อ่านทราบ ดังต่อไปนี้
๑. ผงของพระอาจารย์ต่างๆ ที่ท่านทำและรวบรวมไว้หลายวัด เช่นวัดพระเชตุพน วัดตรีทศเทพ วัดสัมพันธวงศ์ ฯลฯ ผงแป้งที่ทำและผงจากพระของเก่าที่แตกหักชำรุดบ้าง
๒. ผงพระที่ทำด้วยว่านต่างๆ ที่นิยมว่าเป็นมงคลศักดิ์สิทธิ์ ๑๐๘ อย่าง ทำจากดอกไม้บูชาพระต่างๆ ๑๐๘ ชนิด
๓. ผงที่ทำด้วยดินจากท่าน้ำ ๗ ท่า และจากสระน้ำ ๗ สระ
๔. ผงที่ทำด้วยการนำเอาคัมภีร์เก่าๆ ทั้งใบลานและสมุดข่อยมาเผาบด ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึง ๕ นี้ประสมสร้างพระผงรุ่นก่อน แล้วเอาบดผสมเข้ากันกับผงใหม่ที่นำมาเข้าพิธีนี้ด้วย
๕. ผงที่ได้จากดินที่สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ในอินเดีย คือ ๑ ดินที่ลุมพินีระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และเทวทหะซึ่งเป็นที่ประสูติของพระ พุทธเจ้า ๒ ดินที่มหาโพธิ์พุทธคยาที่ตรัสรู้ ๓ ดินที่สารนาถ
มฤคทายวัน เมืองพาราณสี ซึ่งเป็นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักร ๔ ดินที่กุสินนาราซึ่งเป็นที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
๖. ดินจากสถานที่สำคัญอีก ๙ แห่ง คือดินจากสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จเสวยวิมัติสุข ๗ แห่ง บริเวณ พุทธคยา มีที่รัตนะจงกลม และที่สระมุจลิน เป็นต้น และดินที่พระคัณธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าบนเขาคิชกุฏ ( เมืองราชคฤห์ ) ๑ ดินที่พระคันธกุฏีที่ประทับในเมืองสาวัตถี ๓ ซึ่งพระครูสุภารพินิจ (โทน สุขพโล ) วัดสัมพันธวงศ์ ได้ไปนมัสการปูชนียสถานนั้นๆ และได้นำมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗
๗. ผงปูนขาวหินราชบุรี
๘. ผงปูนซีเมนต์ขาว และนอกจากนี้ ก็ยังมีดินเหนียวอย่างดี สีเหลือง และน้ำอ้อยเป็นต้นผง เหล่านี้นั้นประสมกันมากบ้างน้อยบ้าง แล้วบดให้ละเอียด ก่อนนำไปกรองด้วยผ้าป่านสำเร็จเป็นผงที่สร้างพระเครื่อง ใช้น้ำมนต์ที่ทำไว้นั้น ประสมกับของที่จะทำพระให้พระมีคุณภาพดีสวยงาม ทนทาน ศักดิ์สิทธิ์ต่อไป
ประสม ผงพิมพ์เป็นรูป พระพุทธมนต์มหาลาภบ้าง สมเด็จบ้าง ส่วนพระเครื่องอื่น สร้างด้วยดินประสมผงเผา แล้วนำมาเข้าพิธีปลุกเสกในคราวเดียวกัน กับพระพุทธมงคลมหาลาภ เสร็จพิธี แล้วแจกจ่าย ในงานสมโภช พระพุทธโธภาสชินราชจอมมุนี พร้อมด้วยพระอัครสาวก ในการต่อมาพระเครื่องเหล่านี้ เมื่อแจกจ่ายแก่ผู้จำนงในงานผูกพัทธสีมา อุโบสถวัดสารนาถธรรมารามแล้วก็จะได้จัดการทำพิธีบรรจุในอุโบสถ หรือเจดีย์ตามควร เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่วัดสารนารถธรรมาราม อันเป็นมหาปูชนียสถานในกาลต่อไป
พระมงคลมหาลาภ เป็นพระนาคปรกสี่เหลี่ยม เนื้อผงขาว ( และส่วนผสมดังกล่าวแล้ว ) ด้านหลังเป็นยันต์เฑาะดอกบัว อะอุมะ พิมพ์ใหญ่ กลาง เล็ก จำนวน 84,000 องค์ ซึ่ง “พระรัชชมงคลมุนี” ( พระมหารัชชมังคลาจารย์ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ได้มอบให้ “พระชอบ สัมมาจารี” วัดอาวุธวิกสิตารามกรุงเทพฯ สร้าง เพื่อนำมาแจกในงานสมโภชพระประธาน โดยส่ง “ผงอิทธิเจ ผงพุทธคุณต่างๆเป็นแท่งๆ ประทับตรา “วัดสัมพันธวงศ์”ให้นำมาผสม โดยเรียก “พระนาคปรก” นี้ว่า “พระมงคลมหาลาภ” ซึ่งมีชื่อของท่านคือ “พระรัชชมงคลมุนี” อยู่ในชื่อพระด้วย ในพิธีนี้แม่ชีบุญเรือนได้อธิษฐานจิตร่วมอยู่ในพิธีด้วย ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศกการาม จ.สมุทรปราการ องค์ประสานงานพิธีพุทธาภิเษกครั้งนี้ได้บอกศิษย์ว่า “พระผงนี้ดีมาก มีรังสี สีขาว และเหลืองกระจาย ออกสว่างไสว” นอกนั้น ท่านยังได้ขอพระผงมงคล มหาลาภที่ชำรุดประมาณ 1 บาตรพระ นำไปบดใส่ “พระใบโพธิ์เนื้อดิน พ.ศ. 2500” ของท่านด้วย ขนาดขององค์พระพิมพ์ใหญ่ ฐานกว้างประมาณ 2.5-3.8 ซม. หนา 0.5 ซม. พิมพ์เล็ก ฐานกว้างประมาณ 2.2-2.5 ซม. หนา 0.5 ซม. ด้านหลัง มีตราวัดสัมพันธวงศ์ เฑวะรัศมีดอกบัว อ.อุ.ม. ประทับลงในเนื้อเป็นตรารูปไข่ ขนาดของความหนาไม่แน่นอน หนาบ้าง บางเฉียบบ้าง แล้วแต่ขนาด
|