‘ค่ายบางกุ้ง’ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านค่าย หมู่ที่ ๔ ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม บริเวณเดียวกับที่ตั้งวัดบางกุ้ง ซึ่งมีอุโบสถเก่าแก่ถูกปกคลุมด้วยรากต้นโพธิ์ ต้นกร่าง ต้นไทร ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมาวิชัยที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘หลวงพ่อนิลมณี’ หรือ ‘หลวงพ่อดำ’
ที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมกันในทุกวันนี้
วัดบางกุ้งนั้นเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศพระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าได้เกณฑ์กองทัพเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๒ ทาง ให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพยกเข้าตีทางทิศใต้ ยกเข้าตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี เมืองหุยตองจา เมืองชุมพร เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี แล้วจึงยกกลับไปตั้งทัพต่อเรืออยู่ที่ดงรังหนองขาว เมืองกาญจนบุรี
พระเจ้าเอกทัศทรงทราบข่าวโปรดให้เกณฑ์กองทัพออกต่อสู้ โดยกองทัพบกยกไปตั้งค่ายรับข้าศึกที่ตำบลตำหรุ เมืองราชบึรีแห่งหนึ่ง ให้กองทัพเรือยกมาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม แห่งหนึ่ง ให้พระยารัตนาธิเบศยกมาตั้งค่ายที่เมืองธนบุรีอีกแห่งหนึ่ง
ที่ ‘ค่ายบางกุ้ง’ ซึ่งเป็นค่ายทหารเรือไทย ได้ตั้งค่ายโดยสร้างล้อมกำแพงวัดบางกุ้งไว้ตรงกลางค่าย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นที่เคารพบูชาของทหาร ภายหลังการเสียกรุงครั้งที่ ๒ แล้ว ค่ายบางกุ้งก็ร้างไป
ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนจากเมืองระยอง ชลบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี รวบรวมผู้คนมาตั้งกองทหารรักษาค่าย จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ค่ายจีนบางกุ้ง’
ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ พระเจ้ากรุงอังวะยกกองทัพผ่านเมืองกาญจนบุรีมาล้อมค่ายบางกุ้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้าน ให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นแม่ทัพยกไปช่วยเหลือทหารจีนขับไล่กองทัพพม่า ทำให้ข้าศึกแตกพ่าย หลังจากนั้นค่ายบางกุ้งแห่งนี้ถูกปล่อยให้รกร้าง
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งเป็นค่ายลูกเสือขึ้นมา และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้มีการสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
โดยครั้งนั้นนายเทพ สุนทรศารทูล ศึกษาธิการอำเภออัมพวา ได้เสนอความคิดเห็นต่อที่ประชุมคณะกรรมการลูกเสือว่า
“ขอเสนอเรื่องหาเงินสร้างค่ายบางกุ้ง เสนอว่าจะสร้างเหรียญพระเจ้าตากสินขึ้นสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงินด้วย ข้าพเจ้าชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ด้วยค่ายบางกุ้งนี้พระเจ้าตากสินเคยยกทัพมาตีพม่าจนได้ชัยชนะเป็นเกียรติประวัติแก่บ้านเมืองของเรา จึงคิดว่าควรสร้างเหรียญพระเจ้าตากสินขึ้นเป็นที่ระลึก เป็นเครื่องสมานคุณแก่ผู้บริจาคเงิน และให้มีพะธีพุทธาภิเษกตามแบบโบราณด้วย
เหรียยพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้งนี้ ทำเป็นรูปครึ่งองค์ทรงขัตติยาภรณ์ เป็นเหรียญรูปกลมรีขนาดปานกลาง ด้านหน้าจารึกว่า ‘พระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง’ ด้านหลังจารึกว่า ‘ชัยยะตุภะวัง สัพพะ ศัตรูวินาศ สันติ’ ซึ่งเป็นพรที่พระเจ้าตากสินพระราชทานแก่แม่ทัพนายกองที่ออกศึก” (หนังสือค่ายบางกุ้ง โดย เทพ สุนทรศารทูล)
ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายเหรียญในครั้งนั้น นำมาบูรณะค่ายบางกุ้ง และสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ค่ายบางกุ้ง
เหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง พ.ศ. ๒๕๑๑ นี้ ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑ มีพระสงฆ์ ๔ รูป จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร สวดพุทธาภิเษก พระสงฆ์ ๑๔ รูป นั่งบริกรรม ประกอบด้วย
๑. พระเทพสังวรวิมล (เจียง วณฺณสโร) วัดเจริญสุขาราม จังหวัดสมุทรสงคราม
๒. พระครูโพธาภิรมย์ (แหยม) วัดบ้านเลือก จังหวัดราชบุรี
๓. พระราชสมุทรโมลี (สำรวย) วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม
๔. พระครูโกวิทสมุทรคุณ (เนื่อง) วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม
๕. พระครูสมุทรวิจารณ์ (คลี่) วัดประชาโฆสิตาราม จังหวัดสมุทรสงคราม
๖. พระครูสุนทรวิริยาภรณ์ (ปึก) วัดสวนหลวง จังหวัดสมุทรสงคราม
๗. พระครูสุวรรณสมุทรคุณ (ทองอยู่) วัดเทพประสิทธิ์คณาวาส จังหวัดสมุทรสงคราม
๘. พระครูสมุทรสุนทร (สุด) วัดกาหลง จังหวัดสมุทรสงคราม
๙. พระครูสนุทรธรรมกิจ (หยอด) วัดแก้วเจริญ จังหวัดสมุทรสงคราม
๑๐. พระอาจารย์หนู วัดภุมรินทร์กุฎีทอง จังหวัดสมุทรสงคราม
๑๑. พระครูเยื่อ วัดบางกุ้ง จังหวัดสมุทรสงคราม
๑๒. พระอาจารย์อ่วม วัดเพลง จังหวัดราชบุรี
๑๓. พระอาจารย์แดง วัดบางเกาะเทพศักดิ์ จังหวัดสมุทรสงคราม
๑๔. พระอาจารย์เล้ง วัดปราโมทย์ จังหวัดสมุทรสงคราม
และพระพิธีกรรมจากวัดมหาธาตุฯ กรุงเทพมหานคร
ขอบคุณข้อมูลจาก fb มุมพระเครื่องด้วยครับ